เลือกซื้อรถมือสองยังไงดี?

เลือกซื้อรถมือสองยังไงดี?

     ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน มีคนตกงานมากขึ้น เงินหายากขึ้น แทบทุกครอบครัวจำเป็นต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดใช้จ่ายอย่างประหยัด แต่การใช้รถเพื่อการเดินทาง การขนส่ง ก็ยังเป็นที่จำเป็นอยู่ และนอกเหนือจากรถใหม่ป้ายแดงแล้ว "รถมือสอง" ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะหากเทียบจากจำนวนเงินที่เท่ากันแล้ว หากเลือกรถมือสองแล้วสามารถเลือกรุ่นรถที่สูงกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยสภาพรถที่เก่ากว่าแล้วผ่านการใช้งานมาแล้ว ในการเลือกซื้อรถมือสองจึงจำเป็นต้องมีความรู้ หากตัวเราเองไม่มั่นใจก็แนะนำให้พาช่างหรือเพื่อนที่ดูสภาพรถเป็นไปดูด้วยก่อนทำการตัดสินใจซื้อ

     เมื่อตัดสินใจที่จะซื้อรถยนต์มือสองไม่ว่าจะเป็นรถบ้านหรือรถเต็นท์ ดังนั้นเรื่องที่สำคัญกว่าคือ "วิธีเลือกซื้อรถมือสอง" โดยเลือกซื้อรถมือสองอย่างไรให้ได้รถที่ดีที่สุด เสี่ยงเจอปัญหาให้น้อยที่สุด คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปมากที่สุด

1. เลือกประเภทรถให้เหมาะสมกับการใช้งาน

1. เลือกประเภทรถให้เหมาะสมกับการใช้งาน
     อันดับแรกในการเลือกซื้อรถต้องคำนึงถึงการใช้งานก่อน เช่น รถใช้สำหรับการเดินทางก็อาจจะเลือกเป็นรถเก่ง รถใช้สำหรับขนส่งหรือบรรทุกของอาจจะเลือกเป็รถกระบะหรือรถบรรทุก เป็นต้น

2. หาข้อมูลรถเบื้องต้น

2. หาข้อมูลรถเบื้องต้น
     หลังจากเลือกประเภทรถที่สนใจได้แล้ว รายละเอียดต่อไปที่ต้องพิจารณาคือ ยี่ห้อรถ รุ่นรถ ปีรถ สีรถ สเปครถ สภาพรถ และราคา ข้อมูลในส่วนนี้ถือว่าจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะรุ่นรถควรหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพราะรถแต่ละรุ่นจะมีปัญหาเฉพาะหรือจุดบกพร่องที่แตกต่างกันไป หากมีข้อมูลรถรุ่นที่ต้องการมากพอ จะช่วยให้เราสามารถตรวจสอบอาการของรถเบื้องต้นก่อนทำการตกลงซื้อ หรือในอนาคตหากซื้อรถคันนั้นแล้วก็จะสามารถวางแผนหรือประเมินอาการเพื่อการบำรุงรักษาได้

3. ตรวจสอบสภาพภายนอก

3. ตรวจสอบสภาพภายนอก
     สิ่งแรกที่เป็นจุดสังเกตได้ง่ายคือสภาพภายนอกรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรอยเฉี่ยวชน, รอยบุบ, รอยลักยิ้ม, รอยสีแตก, รอยสนิม คราบน้ำมันต่าง ๆ รวมถึงความเดิม ๆ ของรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งชุดพาร์ทรอบคัน ว่าสมบูรณ์ขนาดไหน พร้อมใช้งานหรือไม่ รถที่ผ่านการใช้งานมาแล้วย่อมไม่เหมือนกับรถใหม่ ดังนั้นควรสังเกตจากหลาย ๆ จุด ดังนี้

3.1 สีรถยนต์ สีรถเป็นจุดสังเกตแรกที่เห็นได้ง่ายที่สุด แทบไม่ต้องใช้ความสามารถในด้านช่าง เพราะสีที่พ่นจากโรงงานและการทำสีจากอู่ภายนอกคุณภาพย่อมแตกต่างกัน รวมถึงการทำสีในระยะเวลาต่างกัน ถ้าสังเกตดีๆ ก็จะปรากฎความแตกต่างของสี ความเพี้ยนของสี เนื้อสี นอกเสียจากว่ารถคันนั้นผ่านการซ่อมสีทั้งคันก่อนทำการขาย

3.2 ตัวถังรถยนต์ รถที่เคยประสบอุบัติเหตุอาจมีความผิดปกติของตัวถังรถ มีรอยเชื่อมตามตะเข็บตัวถัง หัวน็อตมีร่องรอยกันขันน็อต การประกอบชุดตัวถังไม่ประกบกันหรือมีระยะห่างของร่องตัวถังไม่เสมอกัน ทั้งหมดนี้จะฟ้องหากมีการซ่อมแซม พยายามสังเกตในจุดหลักที่อาจเกิดอุบัตเหตุได้บ่อยก่อน เช่น ห้องเครื่องด้านหน้า ท้ายรถ (เลิกพรมดู) ซึ่งงานจากโรงงานจะเรียบร้อยเพราะใช้หุ่นยนต์ในการเชื่อม หัวน็อตตามจุดต่าง ๆ เช่น ฝากระโปรงไม่ควรมีการถอดหรือขยับ

!!ข้อควรปฎิบัติ ควรดูรถในเวลากลางวัน ภายใต้สภาพแสงที่หลากหลาย จากหลาย ๆ มุม เราจะสามารถสังเกตุความแตกต่างของสีได้ชัดเจนขึ้น

4. สภาพภายในห้องโดยสาร

4. สภาพภายในห้องโดยสาร
     สภาพภายในห้องโดยสารบ่งบอกการดูแลรักษารถของเจ้าของเก่า นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตุความผิดปกติได้อีกหลายอย่าง เช่น รถจมน้ำมาหรือไม่ ทั้งจากกลิ่นอับชื้น รา หรือคราบสนิมที่ไม่ควรเกิดในจุดนั้น

     ทั้งนี้สภาพความสมบูรณ์ของห้องโดยสารควรสัมพันธ์กับเลขไมล์ เช่น การสึกหรอ เสื่อมสภาพของเบาะ พวงมาลัย ปุ่ม แป้นหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ควรพอดีกัน หากทรุดโทรมหรือดูใหม่กว่าเลขไมล์แบบเกินจริง ให้สงสัยว่าอาจมีการปรับเลขไมล์หรืออาจผ่านการซ่อมแซมมาแล้ว

5. เช็คการทำงานของเครื่องยนต์และอุปกรณ์

5. เช็คการทำงานของเครื่องยนต์และอุปกรณ์
     เครื่องยนต์ถือเป็นอีกจุดที่สำคัญ เพราะมีผลต่อการใช้งานรวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ซึ่งรถที่สมบูรณ์ไม่ควรมีคราบของเหลวไหลเยิ้ม หยด ให้เห็น จากนั้นควรลองสตาร์ตเครื่องยนต์ เปิดการทำงานระบบต่างเพื่อตรวจสอบ โดยปกติแล้วควรทำงานได้เรียบ นิ่ง ไม่สะดุด (แม้บางรุ่นจะมีอาการสั่นมาตั้งแต่ป้ายแดง การหาข้อมูลรถรุ่นที่สนใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ) ไม่มีเสียงหรือกลิ่นผิดปกติ ซึ่งอาจฟ้องความไม่สมบูรณ์ได้

     เมื่อลองเช็คเครื่องยนต์แล้ว เราจำเป็นต้องตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์พื้นฐานให้ครบ ตั้งแต่ระบบไฟ กระจกหน้าต่าง ระบบแอร์ ระบบอำนวยความสะดวกทั้งหมดที่มี ทั้งนี้ในส่วนของระบบความปลอดภัยที่ตรวจสอบยาก เช่น Airbag หรือ ABS หากเปิดสวิตช์ในตำแหน่ง ACC ON แล้วควรปรากฏไฟโชว์และดับลงเมื่อสตาร์ต ถ้ายังติดแสดงว่าระบบนั้น ๆ อาจมีปัญหา แต่ถ้าไม่ติดตั้งแต่แรกเลย ให้สงสัยไว้ก่อนว่าระบบนั้นอาจถูกตัดการแจ้งเตือนไปไม่ให้โชว์ความบกพร่องก็ได้

6. ทดลองขับ

6. ทดลองขับ
     การทดลองขับเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับรถมือสอง ให้สังเกตการณ์ทำงานของเครื่องยนต์ การทำงานของเกียร์ ระบบกันสะเทือน ระบบบังคับเลี้ยว ไม่ควรมีเสียงหรือการตอบสนองที่ผิดปกติ แต่ถ้าผู้ขายไม่ให้ทดลองขับ ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใด ๆ ต่อให้รถดูสวยถูกใจแค่ไหนก็ไม่ควรซื้อ ให้ผ่านไปก่อนได้เลย

     ควรทดลองขับรุ่นรถเดียวกันที่เราสนใจหลายๆ คัน เพื่อพิจารณาอาการและความสมบูรณ์ของเครื่องยนต์ และเพื่อเปรียบเทียบ การมีหลายๆ ตัวเลือกย่อมดีกว่าแน่นอน

7. เอกสารประจำรถยนต์ต้องครบ

7. เอกสารประจำรถยนต์ต้องครบ
     หลังจากเช็คสภาพรถทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว หากกำลังตัดสินใจจะซื้อรถยนต์คันนี้ ควรเช็คและตรวจสอบเอกสารประจำรถยนต์ทั้งหมดว่าครบถ้วน ข้อมูลในเอกสารตรงกับข้อมูลที่รถหรือไม่ เช่น ใครเป็นเจ้าของ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ (หากมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ดัดแปลงสภาพ แจ้งขนส่งฯ หรือยัง ถ้ายังต้องมีใบแนบการซื้อเครื่องยนต์ด้วย) โดยเฉพาะสมุดคู่มือการจดทะเบียน ประกัน รวมถึงสมุดเข้ารับการซ่อมบำรุง ว่าได้รับการตรวจสม่ำเสมอหรือไม่

     นอกจากเอกสารเกี่ยวกับรถแล้ว เอกสารการซื้อขายต้องตรวจสอบด้วยว่าผู้ขายเตรียมให้ครบถ้วนหรือไม่ เช่น หนังสือสัญญาซื้อขาย สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขาย พร้อมหลักฐานต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ตรวจดูรหัสเครื่องยนต์ เลขทะเบียนรถด้วยว่าตรงกันทุกจุดหรือไม่

8. หลังตกลงซื้อขายรีบเข้าศูนย์บริการ

8. หลังตกลงซื้อขายรีบเข้าศูนย์บริการ
     แม้ว่ารถยนต์ที่เราตรวจสอบจะมีสภาพที่รับได้ หรือบางคันอาจจะดูดีด้วยซ้ำ แต่อย่าลืมว่าหากตกลงปลงใจเรียบร้อยแล้ว ควรรีบนำรถเข้าศูนย์บริการแต่ละแบรนด์อีกครั้ง เพื่อเช็คโดยช่างผู้ชำนาญการ อาจเกิดค่าใช้จ่ายเล็กน้อย แต่มันก็เป็นสิ่งดีและจำเป็น เพราะเราอาจจะไม่ทราบว่า ระบบภายในต่าง ๆ มีอะไรที่ชำรุดเพิ่มเติมจากที่เช็คหรือไม่แต่อย่างใด โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายของเหลวทั้งหมดเป็นอย่างแรกที่ควรทำหลังจากซื้อรถมือสอง


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม